วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คดีเบิกความเท็จศาลเชื่อว่าเท็จจริงจริง จะนำข้อความในคดีนั้นมาฟังในคดีใหม่ได้หรือไม่?

คำตอบ คือ ไม่ได้ !  ดูฎีกาต่อไปนี้เป็นแนวทาง....

คดีแดงที่  1062-1065/2512
อัยการจังหวัดสตูล จ.
นายโผชี หรือฮกซุ่ย หรือศักดิ์ เตียวสกุล กับจำเลยอื่น ๆ อีกรวม 4 จำนวน จ..


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗

ในกรณีที่ผู้ใดถูกฟ้องหาว่าได้เบิกความเท็จไว้ในคดีใดที่ศาล แม้ในที่สุดศาลจะได้ยอมรับฟังเป็นยุติไว้ในคดีนั้นโดยเชื่อตามที่ผู้นั้นได้เบิกความไว้ กรณีที่ไม่เป็นการผูกมัดในคดีใหม่นี้ว่าข้อความที่ผู้นั้นเบิกความไว้ครั้งนั้นจะต้องถือเอาเป็นยุติว่าเป็นความจริง เพราะถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว หากเผอิญศาลรับฟังคำเบิกความของผู้ใดไว้เป็นยุติในคดีใด ผู้นั้นก็ไม่อาจจะมีโทษฐานเบิกความเท็จได้เลย ทั้งๆ ที่ความจริงของคำเบิกความนั้นได้ เป็นเท็จและความสามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดได้ในคดีที่ถูกฟ้องในชั้นหลังนี้ คำชี้ขาดของศาลในคดีที่พยานเบิกความไว้ เป็นคำชี้ชาดที่ยุติระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนั้นเท่านี้ หาใช่เป็นการยุติระหว่างโจทก์ในคดีนั้นกับตัวพยานที่เบิกความเท็จในคดีนั้นด้วยไม่ แม้ว่าในคดีนี้ จำเลยที่ถูกฟ้องหาว่าเบิกความเท็จนั้นได้เป็นตัวจำเลยอยู่ในคดีเดิมที่มีการเบิกความดังกล่าวนั้นเอง แต่จำเลยได้เข้าเบิกความในคดีนั้นในฐานะพยาน ซึ่งเป็นอีกฐานะหนึ่งต่างหากจากการเป็นตัวจำเลย เมื่อจำเลยถูกฟ้องหาว่าเบิกความเท็จ ก็จะยกเอาข้อยุติในฐานะเป็นจำเลยของคดีนั้นมาใช้บังคับด้วยหาได้ไม่

…………………..……………………………………………………………..

โจทก์ฟ้องเป็น ๔ สำนวน และเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้สาบานปฏิญาณตนต่อศาลแล้ว ได้เข้าเบิกความเท็จในข้อสำคัญของคดีแดงที่ ๑๖๗/๒๕๐๗ ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อหาและจำเลยในคดีอาญาดำที่ ๑/๒๕๐๙ ให้กรปฏิเสธว่า ไม่ได้ชื่อนายโผซีดังที่เรียกในฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงเชื่อว่า จำเลยเบิกความเท็จในข้อสำคัญของคดีจริงดังฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทุกคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ ให้วางโทษจำคุกคนละ ๔ เดือน แต่นางซุ่ยโหหือซูหัว แซ่ซิ้ว หรือเตียวสกุล นายหมาด ปาละวัน นายบาโรม ยีอา เป็นคนชรามากแล้ว ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนไว้ตามมาตรา ๕๖ ภายใน ๒ ปี
จำเลยทั้งสี่คนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่า ในคดีแดงที่ ๑๖๗/๒๕๐๗ ที่หาวาจำเลยได้เข้าเบิกความไว้ในคดีนั้น ศาลได้ฟังเป็นยุติไว้ในคดีนั้นแล้ว่า นายฮกซุ่ย หรือศักดิ์ เตียวสกุล นี้เป็นคนเกิดในประเทศไทย ไม่ใช่คนต่างด้าว เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าเป็นดังนั้น ในคดีนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยในคดีนี้ได้เบิกความไว้ในคดีนั้นเป็นความเท็จดังที่ฟ้อง จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยทั้งสี่คนไป
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา
สำหรับคดีอาญาที่ ๒/๒๕๐๙ ซึ่งนายหมาด ปาละวัน เป็นจำเลย จำเลยถึงแก่กรรมเสียก่อน คดีจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙
ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่ผู้ใดถูกฟ้องหาว่าได้เบิกความเท็จไว้ในคดีใดที่ศาลแม้ในที่สุดศาลจะได้ยอมรับฟังเป็นยุติไว้ในคดีนั้น โดยเชื่อตามที่ผู้นั้นได้เบิกความไว้ กรณีก็ไม่เป็นการผูกมัดในคดีใหม่นี้ว่าข้อความที่ผูกนั้นเบิกความไว้ครั้งนั้น จะต้องถือเอาเป็นยุติว่าเป็นความจริง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว หากเผอิญศาลรับฟังคำเบิกความของผู้ใดไว้เป็นยุติในคดีใด ผู้นั้นก็ไม่อาจจะมีโทษฐานเบิกความเท็จได้เลย ทั้ง ๆ ที่ความจริงของคำเบิกความนั้นได้เป็นเท็จและสามารถพิสูจน์ได้เห็นชัดได้ในคดีที่ถูกต้องในชั้นหลังนี้ คำชี้ขาดของศาลในคดีที่พยานเบิกความไว้ เป็นคำชี้ขาดที่ยุติระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนั้นเท่านั้น หาใช่เป็นการยุติระหว่างโจทก์ในคดีนั้นกับตัวพยานที่เบิกความเท็จในคดีนั้นด้วยไม่ แม้ว่าในคดีทั้งสี่เรื่องนี้มีอยู่คนหนึ่งคือนายฮกซุ่ยหรือศักดิ์ เตียวสกุล จำเลยที่ถูกฟ้องหาว่าเบิกความเท็จนั้นได้เป็นตัวจำเลยอยู่ในคดีเดิมที่มีการเบิกความดังกล่าวนั้นเองแต่ตัวนายฮกซุ่ยหรือศักดิ์ได้เข้าเบิกความในคดีนั้นในฐานะพยานซึ่งเป็นอีกฐานะหนึ่งต่างหากจากการเป็นตัวจำเลย เมื่อนายฮกซุ่ยหรือศักดิ์ถูกฟ้องหาว่าเบิกความเท็จ ก็จะยกเอาข้อยุติในฐานะเป็นจำเลยของคดีนั้นมาใช้บังคับด้วยหาได้ไม่ และเห็นว่าศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงต่อไปว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความไว้นั้นได้เป็นเท็จในข้อสำคัญหรือไม่ประการใด จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาใหม่ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยนัยที่กล่าวนี้ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

(เฉลิม ทัตภิรมย์ - ศริ มลิลา - เสลา หัมพานนท์ )

ศาลจังหวัดสตูล - นายส่อง สุขะปุณณพันธ์
ศาลอุทธรณ์ - นายวิกรม เมาลานนท์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น