วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เมื่อเจ้าหน้าที่เสนอมา ผมก็ต้องทำตามเสนอ ฟังได้หรือไม่?

โปรดพิจารณาแนวทางการพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกานี้...


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6432/2548
นายอัครเดช ตะน่าน กับพวก
     โจทก์
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กับพวก
     จำเลย



ป.วิ.พ. มาตรา 55



          โจทก์ทั้งสองขอรับเงินบำเหน็จตกทอดของนาย ป. กับนาง อ. ข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งถูกคนร้ายยิงถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงทำหนังสือเสนอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังพิจารณา แต่กรมบัญชีกลางแจ้งให้จำเลยที่ 1 สอบสวนข้อเท็จจริงก่อนว่าการตายของนาย ป. กับ นาง อ. มีสาเหตุเนื่องมาจากความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของผู้ตายทั้งสองหรือไม่ เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งจ่ายเงินบำเหน็จตกทอด จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการดังกล่าวสอบสวนแล้วมีความเห็นหรือมติว่าสาเหตุการตายของนาย ป. เนื่องมาจากความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของนาย ป. ส่วนสาเหตุการตายของนาง อ. ไม่ได้เนื่องมาจากความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของนาง อ. กรมบัญชีกลางจึงไม่จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดของนาย ป. ให้แก่โจทก์ทั้งสอง คงจ่ายให้เฉพาะส่วนของนาง อ. การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวหาได้กระทำการใดอันจะถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสอง ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่ความเห็นดังกล่าวหามีผลเป็นการวินิจฉัยชี้ขาด หรือฟังเป็นยุติที่กรมบัญชีกลางจะต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใดไม่ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองเช่นเดียวกัน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด



________________________________





          โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่ามติของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนมติดังกล่าว

          จำเลยทั้งเจ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองขอรับเงินบำเหน็จตกทอดของนายประเสริฐ กับนางอุราญ ข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งถูกคนร้ายยิงถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงทำหนังสือเสนอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังพิจารณา แต่กรมบัญชีกลางแจ้งให้จำเลยที่ 1 สอบสวนข้อเท็จจริงก่อนว่าการตายของนายประเสริฐกับนางอุราญมีสาเหตุเนื่องมาจากความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของผู้ตายทั้งสองหรือไม่เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งจ่ายเงินบำเหน็จตกทอด จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการดังกล่าวสอบสวนแล้วมีความเห็นหรือมติว่าสาเหตุการตายของนายประเสริฐเนื่องมาจากความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของนายประเสริฐ ส่วนสาเหตุการตายของนางอุราญไม่ได้เนื่องมาจากความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของนางอุราญ กรมบัญชีกลางจึงไม่จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดของนายประเสริฐให้แก่โจทก์ทั้งสอง คงจ่ายให้เฉพาะส่วนของนางอุราญ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดหรือไม่ เห็นว่า อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและสั่งจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังโดยเฉพาะ เมื่อโจทก์ทั้งสองขอรับเงินบำเหน็จตกทอดของนายประเสริฐ จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอเรื่องไปให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้พิจารณา กรมบัญชีกลางส่งเรื่องให้จำเลยที่ 1 สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณา จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวหาได้กระทำการใดอันจะถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง เมื่อได้ทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า สาเหตุการตายของนายประเสริฐเกิดขึ้นเนื่องมาจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของนายประเสริฐ และต่อมาได้ส่งความเห็นนี้ไปให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้พิจารณา ความเห็นของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ที่ได้จากการสอบสวนจึงเป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ที่ได้รับความหมายมาจากจำเลยที่ 1 แต่ความเห็นดังกล่าวหามีผลเป็นการวินิจฉัยชี้ขาด หรือฟังเป็นยุติที่กรมบัญชีกลางจะต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใดไม่ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองเช่นเดียวกัน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

  

( มนตรี ยอดปัญญา - วิชัย วิวิตเสวี - ธานิศ เกศวพิทักษ์ )



ศาลจังหวัดขอนแก่น - นายอุทัย พิศวง

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายวิจิตร วิสุชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น