วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ฐานะการเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

ท่านศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า"เจ้าพนักงาน" ก็คือบุคคลสามัญนี่เอง เป็นแต่มีอำนาจหน้าที่บริหารบางสิ่งบางอย่าง และเฉพาะภายในกรอบอำนาจและหน้าที่นั้น จึงจะถือว่าการกระทำของเขาเป็นการกระทำในฐานเป็นเจ้าพนักงาน

มีคำพิพากษาศาลฎีกาทีอธิบายความเป็นเจ้าพนักงานไว้ชัดเจน คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑๑/๒๕๑๖ มีความละเอียดดังนี้

คดีแดงที่  511/2516
พนักงานอัยการจังหวัดระยอง โจทก์
นายพานิช หรือเซ็ก กุสลานุภาพ จำเลย


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๓, ๑๕๗, ๑๗๗

             การปฏิบัติการของเจ้าพนักงานคนหนึ่งคนใดจะเป็นการกระทำในหน้าที่หรือไม่ย่อมเป็นไปตามกฎหมาย ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตามระเบียบหรือคำสั่งของทางราชการ
 เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดส่วนการฟ้องร้องผู้กระทำความผิดหรือไม่ ย่อมอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจะต้องไปเบิกความเป็นพยานหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของพนักงานอัยการและศาล มิใช่ว่าเมื่อตำรวจคนใดได้จับผู้กระทำความผิดแล้วจะต้องไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลเสมอไปจนถือว่าเป็นหน้าที่
  การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ต้องเบิกความต่อศาลตามความสัจจริงในฐานะเป็นพยานในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกฟ้องนั้น เป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วๆ ไป หาใช่เป็นหน้าที่โดยตรงอันสืบเนื่องมาจากการที่เป็นเจ้าพนักงานผู้จับกุมผู้กระทำความผิดไม่ หน้าที่ที่ต้องเบิกความตามความสัจจริง จึงไม่เป็นการกระทำการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะแม้จำเลยจะเรียกและรับเงินจากผู้อื่นเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานดังกล่าวให้เบิกความผิดไปจากความจริง ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๓

…………………..……………………………………………………………..

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจเรียกเงินจำนวน ๔,๐๐๐ บาท จากนางบุบผาเพื่อนำไปให้จ่าสิบตำรวจประทีป ซึ่งรับราชการอยู่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแกลงผู้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจจ่าสิบตำรวจประทีปโดยวิธีอันทุจริต ไม่ให้จ่าสิบตำรวจประทีปเบิกความในชั้นศาลว่าเห็นนายบุณย์ถอนฟันในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๓ อันเป็นการไม่กระทำการตามหน้าที่ของจ่าสิบตำรวจประทีปในการเบิกความในฐานะเป็นพยานในคดีอาญาระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดระยองโจทก์ นายบุณย์ กังวาฬสถิตย์ จำเลยเรื่องประกอบโรคศิลปะสาขาทันตกรรมไม่รับอนุญาต เพื่อช่วยเหลือให้นายบุณย์ไม่ต้องถูกศาลจังหวัดระยองพิพากษาลงโทษ อันเป็นคุณแก่นายบุณย์ ต่อมาจำเลยได้รับเงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท จากนางบุบผา เพื่อนำไปให้จ่าสิบตำรวจประทีปดังกล่าวแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า การเบิกความชั้นศาลของจ่าสิบตำรวจประทีปไม่ใช่เป็นการกระทำในหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจแม้จำเลยไปเรียกและรับเงินตามฟ้องจริง ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๓ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จ่าสิบตำรวจประทีปเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิด และดำเนินการเพื่อให้ผู้ที่ถูกจับกุมถูกลงโทษตามกฎหมาย การมาเบิกความต่อศาลเกี่ยวกับข้อหาที่จ่าสิบตำรวจประทีปได้จับกุมมา ต้องถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของจ่าสิบตำรวจประทีป มิฉะนั้นข้อกล่าวหาของตนที่หาว่าผู้ถูกจับกุมได้กระทำความผิดก็ไม่เป็นผล เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเรียกเงินจากผู้อื่นเพื่อนำไปให้แก่จ่าสิบตำรวจประทีปเพื่อให้เบิกความผิดเพี้ยนในสารสำคัญจากความเป็นจริง ก็ถือว่าเป็นการชักจูงใจให้จ่าสิบตำรวจประทีปปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นคุณแก่ผู้ถูกจับกุมแล้ว พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การปฏิบัติการของเจ้าพนักงานคนหนึ่งคนใดจะเป็นการกระทำในหน้าที่หรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือตามระเบียบหรือคำสั่งของทางราชการ เจ้าพนักงานเช่นจ่าสิบตำรวจประทีป บุปผเวส นี้ ย่อมมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด เมื่อได้จับกุมผู้กระทำความผิดมาแล้วผู้กระทำความผิดนั้นจะถูกฟ้องร้องหรือไม่ ย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ เมื่อผู้กระทำความผิดถูกฟ้องแล้วจ่าสิบตำรวจประทีป บุปผเวส จะต้องไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลหรือไม่ย่อมอยู่ในดุลพินิจของพนักงานอัยการและศาล มิใช่ว่าเมื่อจ่าสิบตำรวจประทีปบุปผเวส ได้จับผู้กระทำความผิดแล้วจะต้องไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลเสมอไปจนถือว่าเป็นหน้าที่ แต่เมื่อจะต้องไปเบิกความเป็นพยานแล้วจ่าสิบตำรวจประทีป บุปผเวส ก็มีหน้าที่ต้องเบิกความไปตามความจริงซึ่งก็เป็นหน้าที่อย่างเดียวกับหน้าที่ของประชาชนทั่ว ๆ ไปนั่นเอง หาใช่เป็นหน้าที่โดยตรงอันสืบเนื่องมาจากการที่เป็นเจ้าพนักงานผู้จับกุมผู้กระทำความผิดไม่ การที่จ่าสิบตำรวจประทีป บุปผเวส มีหน้าที่ต้องเบิกความเกี่ยวกับการกระทำผิดของนายบุณย์ กังวาฬสถิตย์ ตามความสัจจริง จึงไม่เป็นการกระทำการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ แม้จำเลยจะเรียกและรับเงินจากผู้อื่นเพื่อจูงใจจ่าสิบตำรวจประทีป บุปผเวส ให้เบิกความผิดไปจากความจริง ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๓ ที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

(ศิริ อติโพธิ - เสถียร ลิมปิษเฐียร - ถนอม ครูไพศาล )

ศาลจังหวัดระยอง - นายสันติ ทักราล
ศาลอุทธรณ์ - นายพิทยา พงคล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น