วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คำพิพากษาผูกพันคู่ความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 687/2547
นาง ยุพินหรือธวัลพร พริกนุ่น
โจทก์
นาง แดง พัชรัษเฐียร
จำเลย


ป.วิ.พ. มาตรา 145
                คดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้วมีประเด็นว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ และมีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ จึงมีประเด็นต่างกัน แม้ในคดีก่อนศาลจะฟังว่าที่ดินเป็นของผู้ตายเพียงผู้เดียว ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้

________________________________


                โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 312 เนื้อที่ 11 ไร่ 64 ตารางวา ตามพินัยกรรมของนางฟุ้งหรือคุ้ง ใจสนุกเจ้ามรดก ซึ่งยกที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยเป็นน้องของนายฟุ้งหรือคุ้งได้ปลูกบ้านเลขที่10 อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวบางส่วนทางด้านทิศเหนืออยู่ก่อนนางฟุ้งหรือคุ้งถึงแก่กรรมภายหลังจากโจทก์รับโอนที่ดินดังกล่าวแล้วโจทก์แจ้งให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกไปจากที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมออกไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ดินดังกล่าวอาจให้เช่าได้เดือนละ 5,000 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันแจ้งให้จำเลยรื้อถอนวันที่ 23 มิถุนายน 2540 คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 เดือนเศษ รวมเป็นเงิน15,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 10 หมู่ที่ 3 ตำบลควนทอง(ท้องเนียน) อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโจทก์และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 15,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินโจทก์
                จำเลยให้การว่า นางฟุ้งหรือคุ้ง ใจสนุก ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินทั้งแปลงแต่มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 312 แทนน้อง 3 คน คือนางล้อม ชูเขียวนายแพ ใจสนุก และจำเลย เนื่องจากเดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนายทอง และนางเล็ก ใจสนุก บิดามารดาของนางฟุ้งหรือคุ้ง นางล้อม นายแพและจำเลย ต่อมาในปี2475 นายทองและนางเล็กได้แบ่งปันและยกที่ดินดังกล่าวให้บุตรทั้ง 4 คน เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยเป็นส่วนสัดและจำเลยได้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในที่ดินดังกล่าว นางฟุ้งหรือคุ้งจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งแปลงให้แก่โจทก์ และพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากเจ้ามรดกถูกหลอกให้พิมพ์ลายนิ้วมือในพินัยกรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
                ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่านายทองและนางเล็ก ใจสนุก มีบุตร 4 คน คือ นางฟุ้งหรือคุ้ง ใจสนุกนางล้อม ชูเขียว นายแพ ใจสนุก และจำเลย ส่วนโจทก์เป็นหลานของนางล้อม ที่ดินตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 312 เอกสารหมาย จ.2 มีชื่อนางฟุ้งหรือคุ้งเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดิน ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 312 มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 และมีจำเลยปลูกบ้านเลขที่ 10 อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทในปี 2538 นางฟุ้งหรือคุ้งถึงแก่กรรมโจทก์จึงนำพินัยกรรมของนางฟุ้งหรือคุ้งตามเอกสารหมาย จ.8 ที่ยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 312 ให้โจทก์ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางฟุ้งหรือคุ้งหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหานี้โจทก์มีตัวโจทก์ปากเดียวเป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางฟุ้งหรือคุ้ง โดยโจทก์ไม่มีพยานบุคคลอื่นมาสนับสนุน และแม้ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 312 ตามเอกสารหมาย จ.2 จะมีชื่อนางฟุ้งหรือคุ้งเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่านางฟุ้งหรือคุ้งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 เท่านั้น ไม่เป็นข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาด ฝ่ายจำเลยอาจนำสืบหักล้างได้ ส่วนที่จำเลยเคยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางฟุ้งหรือคุ้ง และโจทก์ได้คัดค้าน ซึ่งต่อมาศาลพิพากษายกคำร้องขอของจำเลยตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.4 นั้นเห็นว่า ในคดีดังกล่าวมีประเด็นว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ และมีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางฟุ้งหรือคุ้งหรือไม่ จึงมีประเด็นต่างกัน แม้ในคดีก่อนศาลจะฟังว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 312 เป็นของนางฟุ้งหรือคุ้งผู้ตายเพียงผู้เดียว ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้ส่วนจำเลยเป็นฝ่ายปลูกบ้านอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา เมื่อโจทก์ไปขอรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวและขอเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของที่ดินดังกล่าวเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฝ่ายจำเลยก็ไปคัดค้านตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.9 จ.10 และจ.15 จำเลยกับนายอรรถ พัชรัษเฐียร สามียังเบิกความถึงการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทว่าเดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของนายทองและนางเล็ก ใจสนุก บิดามารดาของจำเลยและนางฟุ้งหรือคุ้งต่อมาประมาณปี 2475 นางเล็กได้ยกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าวให้จำเลย ขณะนั้นที่ดินยังไม่มีเอกสารสิทธิในปี 2476 จำเลยและนายอรรถได้ปลูกบ้านเลขที่ 10 ในที่ดินพิพาทตามภาพถ่ายหมายล.1 และปลูกต้นไม้ผลทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ต่อมาปี 2527 มีการตัดถนนสายขนอม - ดอนสัก ผ่านที่ดินดังกล่าวทำให้ที่ดินแบ่งออกเป็น 2 แปลง ที่ดินพิพาทอยู่ทางทิศเหนือของถนนจำเลยจึงปลูกบ้านหลังใหม่ตามภาพถ่ายหมาย ล.3 เพื่อหลบแนวถนน ส่วนนางฟุ้งหรือคุ้งได้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงแทนน้องทุกคนรวมทั้งจำเลย จำเลยยังมีนายจรุง เสือทอง นายจรัส เสือทอง นายกระจ่างเมฆแดง ซึ่งล้วนเป็นคนดั้งเดิมของท้องที่ดังกล่าวและนางชฎาพร ชูรุจิพร บุตรของจำเลยเป็นพยานเบิกความสนับสนุน แม้ในเรื่องนายทองและนางเล็กยกที่ดินพิพาทให้จำเลยนายจรุงได้รับคำบอกเล่าจากนายแพและนางล้อม ส่วนนางชฎาพรได้รับคำบอกเล่าจากจำเลยและนายอรรถ แต่คำบอกเล่าดังกล่าวก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของจำเลยได้ ทั้งเมื่อพิจารณาสภาพบ้านเลขที่ 10 ของจำเลยทั้งสองหลังตามภาพถ่ายหมาย ล.1 และ ล.3 ก็แสดงว่าจำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลานานแล้ว และบ้านทั้งสองหลังก็ปลูกสร้างในลักษณะถาวรเหมือนปลูกสร้างในที่ดินของตนเอง ล้วนสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานจำเลยข้างต้น โจทก์เองก็ไม่ทราบว่าจำเลยเข้าปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทตั้งแต่เมื่อไรและโดยอาศัยสิทธิอะไรที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยว่าเมื่อจะทำอะไร เห็นจำเลยไปขออนุญาตนางฟุ้งหรือคุ้งทุกครั้งนั้น มีแต่โจทก์ปากเดียวเบิกความลอย ๆ ทำให้มีน้ำหนักน้อยพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางฟุ้งหรือคุ้งแต่เป็นของจำเลย นางฟุ้งหรือคุ้งจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามฟ้องที่จะมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
                พิพากษายืน


( พินิจ บุญชัด - มงคล ทับเที่ยง - สุรพล เตชะกำธร )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น