วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

การพิจารณาถึงเรื่อง "สิทธิในที่ดิน" ตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ซึ่งมีหลักฐานแจ้งการครอบครอง (ส.ค.๑) ใบจอง ใบเหยียบย่ำ  เท่านั้น ผู้ครอบครองซึ่งไม่มีหลักฐานใด ๆ มาก่อนก็มีสิทธิในที่ดินได้ หากได้ครอบครองและทำประโชน์อยู่ในที่ดินนั้น ดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ...


คดีหมายเลขแดงที่ อ.92/2553 คดีหมายเลขดำที่ อ.340/2547 


                
คดีนี้ปรากฏว่า ที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินที่มีหลักฐาน น.ส. 3 ก. ซึ่งถือได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้ฟ้องคดีได้สิทธิในที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามนัยข้อ 16 ประกอบกับข้อ 7 (2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และเป็นที่ดิน ที่ตั้งอยู่ในตำบลแจ้ห่ม อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1(เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาแจ้ห่ม) ได้รับคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการสอบสวนพิสูจน์สิทธิในที่ดินดังกล่าว และได้เสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4(ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง) ดำเนินการตามข้อ 16 ประกอบกับข้อ 10 (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กล่าวคือ แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดิน น.ส. 3 ก. ทั้ง 27 แปลง ที่ผู้ฟ้องคดีนำมาเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง) ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กลับมีหนังสือลงวันที่ 5 ตุลาคม 2541 เรื่อง นาย ก. ขอออกโฉนดที่ดินในเขตป่าไม้ถาวร ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่า จังหวัดลำปางได้ตรวจสอบเอกสารเรื่องราวแล้ว ปรากฏว่าหลักฐาน น.ส. 3 ก. ที่ใช้ประกอบในการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเดินสำรวจออก น.ส. 3 ก. ในปี พ.ศ. 2517 โดยไม่มีหลักฐานและรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าไม้ถาวร จึงเป็นการออก น.ส. 3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถดำเนินเรื่องออกโฉนดที่ดินในเขตป่าไม้ถาวร โดยอาศัยหลักฐาน น.ส. 3 ก. ดังกล่าว ต่อไปได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งผลการตรวจสอบของจังหวัดลำปางดังกล่าว และขอยกเลิกเรื่องออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดิน น.ส. 3 ก. ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติราชการแทน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดินดังกล่าวให้แน่ชัดว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ป่าแม่ป้าย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2513 ทั้งแปลงและบางส่วนจริงหรือไม่ และในกรณีที่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ผู้ที่โอนที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อนวันที่ทางราชการกำหนดให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขต ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ นอกจากนั้น หลักฐาน น.ส. 3 ก. ที่ผู้ฟ้องคดีแนบมาในคำขอออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็น น.ส. 3 ก. ที่ออกตามการเดินสำรวจรังวัดเมื่อปีพ.ศ. 2517 นั้น แม้จะออกให้แก่ผู้ขอโดยไม่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน ใบจองใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า ได้ทำประโยชน์แล้วหรือผู้ขอไม่ใช่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ถือได้ว่า น.ส. 3 ก. ดังกล่าว ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่อ้าง เนื่องจาก ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ก็อาจขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประกาศทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ที่ออกตามความในมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 และพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่บุคคลดังกล่าวได้ กรณีจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่ข้อ 16 ประกอบกับข้อ 10 (3) และข้อ 11 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ





------------------------------------------------------------------------------



ผู้ถูกฟ้อง

เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลําปาง สาขาแจ้ห่ม ที่ ๑

 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลําปาง ที่ ๒

อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓

 ผู้ว่าราชการจังหวัดลําปาง ที่ ๔

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คดีเบิกความเท็จศาลเชื่อว่าเท็จจริงจริง จะนำข้อความในคดีนั้นมาฟังในคดีใหม่ได้หรือไม่?

คำตอบ คือ ไม่ได้ !  ดูฎีกาต่อไปนี้เป็นแนวทาง....

คดีแดงที่  1062-1065/2512
อัยการจังหวัดสตูล จ.
นายโผชี หรือฮกซุ่ย หรือศักดิ์ เตียวสกุล กับจำเลยอื่น ๆ อีกรวม 4 จำนวน จ..


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗

ในกรณีที่ผู้ใดถูกฟ้องหาว่าได้เบิกความเท็จไว้ในคดีใดที่ศาล แม้ในที่สุดศาลจะได้ยอมรับฟังเป็นยุติไว้ในคดีนั้นโดยเชื่อตามที่ผู้นั้นได้เบิกความไว้ กรณีที่ไม่เป็นการผูกมัดในคดีใหม่นี้ว่าข้อความที่ผู้นั้นเบิกความไว้ครั้งนั้นจะต้องถือเอาเป็นยุติว่าเป็นความจริง เพราะถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว หากเผอิญศาลรับฟังคำเบิกความของผู้ใดไว้เป็นยุติในคดีใด ผู้นั้นก็ไม่อาจจะมีโทษฐานเบิกความเท็จได้เลย ทั้งๆ ที่ความจริงของคำเบิกความนั้นได้ เป็นเท็จและความสามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดได้ในคดีที่ถูกฟ้องในชั้นหลังนี้ คำชี้ขาดของศาลในคดีที่พยานเบิกความไว้ เป็นคำชี้ชาดที่ยุติระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนั้นเท่านี้ หาใช่เป็นการยุติระหว่างโจทก์ในคดีนั้นกับตัวพยานที่เบิกความเท็จในคดีนั้นด้วยไม่ แม้ว่าในคดีนี้ จำเลยที่ถูกฟ้องหาว่าเบิกความเท็จนั้นได้เป็นตัวจำเลยอยู่ในคดีเดิมที่มีการเบิกความดังกล่าวนั้นเอง แต่จำเลยได้เข้าเบิกความในคดีนั้นในฐานะพยาน ซึ่งเป็นอีกฐานะหนึ่งต่างหากจากการเป็นตัวจำเลย เมื่อจำเลยถูกฟ้องหาว่าเบิกความเท็จ ก็จะยกเอาข้อยุติในฐานะเป็นจำเลยของคดีนั้นมาใช้บังคับด้วยหาได้ไม่

…………………..……………………………………………………………..

โจทก์ฟ้องเป็น ๔ สำนวน และเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้สาบานปฏิญาณตนต่อศาลแล้ว ได้เข้าเบิกความเท็จในข้อสำคัญของคดีแดงที่ ๑๖๗/๒๕๐๗ ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อหาและจำเลยในคดีอาญาดำที่ ๑/๒๕๐๙ ให้กรปฏิเสธว่า ไม่ได้ชื่อนายโผซีดังที่เรียกในฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงเชื่อว่า จำเลยเบิกความเท็จในข้อสำคัญของคดีจริงดังฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทุกคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ ให้วางโทษจำคุกคนละ ๔ เดือน แต่นางซุ่ยโหหือซูหัว แซ่ซิ้ว หรือเตียวสกุล นายหมาด ปาละวัน นายบาโรม ยีอา เป็นคนชรามากแล้ว ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนไว้ตามมาตรา ๕๖ ภายใน ๒ ปี
จำเลยทั้งสี่คนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่า ในคดีแดงที่ ๑๖๗/๒๕๐๗ ที่หาวาจำเลยได้เข้าเบิกความไว้ในคดีนั้น ศาลได้ฟังเป็นยุติไว้ในคดีนั้นแล้ว่า นายฮกซุ่ย หรือศักดิ์ เตียวสกุล นี้เป็นคนเกิดในประเทศไทย ไม่ใช่คนต่างด้าว เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าเป็นดังนั้น ในคดีนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยในคดีนี้ได้เบิกความไว้ในคดีนั้นเป็นความเท็จดังที่ฟ้อง จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยทั้งสี่คนไป
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา
สำหรับคดีอาญาที่ ๒/๒๕๐๙ ซึ่งนายหมาด ปาละวัน เป็นจำเลย จำเลยถึงแก่กรรมเสียก่อน คดีจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙
ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่ผู้ใดถูกฟ้องหาว่าได้เบิกความเท็จไว้ในคดีใดที่ศาลแม้ในที่สุดศาลจะได้ยอมรับฟังเป็นยุติไว้ในคดีนั้น โดยเชื่อตามที่ผู้นั้นได้เบิกความไว้ กรณีก็ไม่เป็นการผูกมัดในคดีใหม่นี้ว่าข้อความที่ผูกนั้นเบิกความไว้ครั้งนั้น จะต้องถือเอาเป็นยุติว่าเป็นความจริง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว หากเผอิญศาลรับฟังคำเบิกความของผู้ใดไว้เป็นยุติในคดีใด ผู้นั้นก็ไม่อาจจะมีโทษฐานเบิกความเท็จได้เลย ทั้ง ๆ ที่ความจริงของคำเบิกความนั้นได้เป็นเท็จและสามารถพิสูจน์ได้เห็นชัดได้ในคดีที่ถูกต้องในชั้นหลังนี้ คำชี้ขาดของศาลในคดีที่พยานเบิกความไว้ เป็นคำชี้ขาดที่ยุติระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนั้นเท่านั้น หาใช่เป็นการยุติระหว่างโจทก์ในคดีนั้นกับตัวพยานที่เบิกความเท็จในคดีนั้นด้วยไม่ แม้ว่าในคดีทั้งสี่เรื่องนี้มีอยู่คนหนึ่งคือนายฮกซุ่ยหรือศักดิ์ เตียวสกุล จำเลยที่ถูกฟ้องหาว่าเบิกความเท็จนั้นได้เป็นตัวจำเลยอยู่ในคดีเดิมที่มีการเบิกความดังกล่าวนั้นเองแต่ตัวนายฮกซุ่ยหรือศักดิ์ได้เข้าเบิกความในคดีนั้นในฐานะพยานซึ่งเป็นอีกฐานะหนึ่งต่างหากจากการเป็นตัวจำเลย เมื่อนายฮกซุ่ยหรือศักดิ์ถูกฟ้องหาว่าเบิกความเท็จ ก็จะยกเอาข้อยุติในฐานะเป็นจำเลยของคดีนั้นมาใช้บังคับด้วยหาได้ไม่ และเห็นว่าศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงต่อไปว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความไว้นั้นได้เป็นเท็จในข้อสำคัญหรือไม่ประการใด จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาใหม่ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยนัยที่กล่าวนี้ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

(เฉลิม ทัตภิรมย์ - ศริ มลิลา - เสลา หัมพานนท์ )

ศาลจังหวัดสตูล - นายส่อง สุขะปุณณพันธ์
ศาลอุทธรณ์ - นายวิกรม เมาลานนท์

แพ้คดีใด มิได้หมายความว่าฝ่ายผู้แพ้เบิกความเท็จเสมอไป

คำพิพากษาต่อไปนี้คือคำตอบนั้น...


คดีแดงที่  1862/2511
นายมีชอง แซ่ฉิ่น โจทก์
นางพลอย แสนยงค์ ที่ 1 นายสนั่น แสนยงค์ ที่ 2 จำเลย



ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๑๘๐



ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยว่าควรฟังพยานฝ่ายใด และพิพากษาให้ชนะคดีแล้วนั้น ยังไม่เป็นเหตุพอที่จะถือว่าฝ่ายผู้แพ้คดีมีเจตนาเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีนั้นๆ เสมอไปเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยิ่งขึ้นไปกว่าที่ปรากฏแล้วในสำนวนหรือคดีเดิม อันจะพึงแสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งปราศจากสงสัยว่าจำเลยมีเจตนาเบิกความเท็จในข้อสำคัญในการพิจารณาคดีดังกล่าวแล้ว ก็ฟังลงโทษจำเลยในฐานนี้ไม่ได้



…………………..……………………………………………………………..



โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบังอาจแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในคำฟ้องและในการพิจารณาคดี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๑๘๐, ๙๑ และ ๘๓

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยสาบานตนเบิกความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดีนั้น จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ส่วนข้อหาฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๐ นั้น พยานโจทก์ยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ ให้จำคุกคนละหนึ่งปี และยกข้อหาอื่น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยว่าควรฟังพยานฝ่ายใดและพิพากษาให้ชนะคดีแล้วนั้น ยังไม่เป็นเหตุพอที่จะถือว่าฝ่ายผู้แพ้คดีมีเจตนาเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีนั้น ๆ เสมอไปเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยิ่งขึ้นไปกว่าที่ปรากฏแล้วในสำนวนหรือคดีเดิม อันจะพึงแสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งปราศจากสงสัยว่า จำเลยมีเจตนาเบิกความเท็จในข้อสำคัญในการพิจารณาคดีดังกล่าวแล้วก็ฟังลงโทษจำเลยในฐานนี้ไม่ได้

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์



(บัญญัติ สุขารมณ์ - วงษ์ วีระพงศ์ - จินตา บุณยอาคม )



ศาลอาญา - นายกิ่ง ศาลิคุปต์

ศาลอุทธรณ์ - นายจรัส ศรีวรรธนะ

กฎกระทรวง : กฎหมายกำหนดให้มีไว้เพื่ออะไร?

โปรดพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้...

คดีแดงที่  1347/2505
อัยการจังหวัดสุพรรณบุรี จ.
นางโมย แซ่ฮ้อ จ.ล



พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๔, ๓๘ ทวิ
พ.ร.บ.สุรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๘
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๔, ๖๒



จำเลยขนสุราจากร้านขายส่งไปยังร้านจำเลย ซึ่งอยู่ในอำเภอเดียวกันเป็นปกติ แต่ทางที่ขนไปนั้นต้องผ่านเข้าเขตอีกจังหวัดหนึ่ง เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้รับใบอนุญาตขายสุรามีอำนาจออกใบขนสุราให้ขนสุราไปได้โดยไม่ผิดกฎหมายเช่นนี้ จำเลยย่อมไม่มีเจตนาขนสุราโดยไม่มีใบขนอันถูกต้อง จึงไม่มีความผิด
ประกาศกรมสรรพสามิตที่กำหนดเงื่อนไขแก่ผู้รับใบอนุญาตขายส่งสุรา ในการออกใบขนนั้นมิใช่กฎหมาย เพราะเป็นแต่ระเบียบการที่เจ้าพนักงานกำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติการตามอำนาจที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น ประกาศนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่ง





…………………..……………………………………………………………..



โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขนสุราจำนวน ๑,๐๐๐ ลิตร ออกจากเขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เข้ามาในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมิได้รับใบอนุญาตขนสุรา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๔, ๓๘ ทวิ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๘

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด เพราะไม่มีเจตนาพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นวา ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า จำเลยขนสุราจากร้านขายส่งอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปยังร้านของจำเลยที่ตำบลลาวขวัญ อำเภอเดียวกัน โดยมีใบขนของร้านขายส่งนั้น ซึ่งออกให้โดยอาศัยอำนาจที่อธิบดีอนุญาตให้ร้านขายส่งออกได้ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๖ จำเลยเข้าใจว่า ใบอนุญาตนั้นคุ้มครองจำเลยให้ขนได้ตามที่ได้เคยปฏิบัติมาหลายครั้ง รวมทั้งรายอื่น ๆ ไม่มีการจับกุมกัน ศาลฎีกาเห็นว่าเงื่อนไขที่กล่าวถึงในมาตรา ๑๖ นี้เป็นเงื่อนไขที่อธิบดีจะกำหนดแก่ผู้รับใบอนุญาตให้ขายสุราในการที่จะออกใบขนสุรา หาใช่เงื่อนไขที่ผู้รับอนุญาตให้ขายสุราจะกำหนดลงในใบขนไม่ ดังจะเห็นได้จากข้อความในประกาศกรมสรรพสามิต เรื่องอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตขายสุรา ฯลฯ ออกหนังสือสำคัญสำหรับขนสุราออกจากสถานที่ขายสุราของตนได้ ลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๐๓ การขอผ่อนผันนี้ก็เป็นการที่ผู้รับใบอนุญาตขายสุราต้องกระทำเพื่อมีอำนาจ ออกใบขนผ่านเขตจังหวัดอื่นได้ในกรณีที่ระบุไว้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้รับใบอนุญาตขายสุราต้องจัดการเพื่อให้มีอำนาจออกใบขนได้โดยถูกต้องแก่พฤติการณ์ที่ต้องขนสุราผ่านเขตจังหวัดสุพรรณบุรีอยู่เป็นปกติดังในกรณีนี้ ประกาศกรมสรรพสามิตที่กำหนดเงื่อนไขแก่ผู้รับใบอนุญาตขายส่งสุราในการออกใบขนนี้มิใช่กฎหมาย เพราะเป็นแต่ระเบียบการที่เจ้าพนักงานกำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติการตามอำนาจที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น ประกาศนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่ง เมื่อจำเลยเข้าใจผิดไปว่าผู้รับใบอนุญาตขายสุรามีอำนาจออกใบขนสุราให้จำเลยขนสุราไปได้โดยไม่ผิดกฎหมายดังที่เคยทำกันมาเป็นปกติ จำเลยก็ไม่มีเจตนากระทำการขนสุราโดยไม่มีใบขนโดยถูกต้อง จำเลยไม่มีความผิดดังฟ้อง

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์





(จิตติ ติงศภัทิย์ -- บริรักษ์จรรยาวัตร -- พจน์ ปุษปาคม )



ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี - นายบดินทร์ ลุประสงค์

ศาลอุทธรณ์ - นายศรี มลิลา


คดีแดงที่  515/2502
พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์
นายคุณ แซ่กาง จำเลย



พ.ร.บ. เก็บภาษีเครื่องขีดไฟซึ่งทำในพระราชอาณาเขต พ.ศ. ๒๔๗๖ มาตรา ๔, , ,



แม้ขณะจำเลยตั้งโรงงานประกอบเครื่องขีดไฟโดยไม่ได้รับอนุญาต จะยังไม่มีกฎกระทรวงออกใช้ตาม พ.ร.บ. เก็บภาษีเครื่องขีดไฟ ฯ พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดไปได้ เพราะตาม ม. ๖, ๘ แห่ง พ.ร.บ. นี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวงก็เพื่อควบคุมและปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่จะขออนุญาตประกอบเครื่องขีดไฟดังบัญญัติไว้ ในมาตรา ๔ นั้นเลย



…………………..……………………………………………………………..



โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบเครื่องขีดไฟโดยไม่เสนอแผนผังและไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. เก็บภาษีเครื่องขีดไฟ ซึ่งทำให้พระราชอาณาเขต พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา๔, ๙.

จำเลยต่อสู้ว่า ไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้และว่าวิธีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้เพิ่งออกกฎกระทรวงเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๙๙ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยถูกจับแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ กับว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะจำเลยเลิกโรงงานนี้เกิน ๑ ปีแล้ว ก่อนถูกจับ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามชื่อพระราชบัญญัตินี้ระบุชัดแจ้งว่าเป็นกฎหมายออกมาเพื่อเก็บภาษีเครื่องขีดไฟ แต่วิธีการจัดเก็บ วิธีการอนุญาต ตลอดจนตั้งพนักงานวางอัตราค่าธรรมเนียมที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้ จะต้องอาศัยกฎกระทรวงซึ่งจะออกตาม ม. ๖, แต่นับตั้งแต่ พ.ร.บ. นี้ ประกาศใช้แล้ว ๒๔ ปี กฎกระทรวงเพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๘ ธ.ค. ๒๔๙๙ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจับจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยเป็นมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ให้แก่รัฐโดยความประสงค์จะตั้งโรงงานประกอบเครื่องขีดไฟ แต่ไม่มีวิธีการเก็บภาษีเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ จะเอาโทษแก่จำเลยยังไม่ชอบ พิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ขั้นตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทำเครื่องขีดไฟ ไม่จำต้องอาศัยกฎกระทรวงแต่อย่างใด ที่จะต้องอาศัยกฎกระทรวง คือชั้นเก็บภาษี จำเลยจะเอาความไม่รู้กฎหมายนี้อยู่มาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ พิพากษากลับว่า จำเลยผิดตาม พ.ร.บ. เก็บภาษีเครื่องขีดไฟฯ พ.ศ. ๒๔๗๖ มาตรา ๔, ๙ ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ เครื่องขีดไฟสำเร็จของรูปของกลางตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ ๓๒, ๓๓ ให้ริบ ของกลางนอกนั้นคืนจำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๖, ๘ แห่ง พ.ร.บ. นี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวง ก็เพื่อควบคุมและปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ หาได้เกี่ยวข้อกับการที่จะขออนุญาติประกอบเครื่องจัดไฟดังบัญญัติในมาตรา ๔ นั้นไม่ ฉะนั้น แม้ขณะจำเลยตั้งโรงงานประกอบเครื่องขีดไฟ โดยไม่ได้รับอนุญาตนี้จะยังไม่มีกฎกระทรวงออกใช้ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ตาม ก็หาทำให้จำเลยพ้นผิดไม่ และฟังว่าจำเลยไม่รู้ถึงการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง สมควรลงโทษปรับสถานเบา จังพิพากษาแก้เฉพาะโทษปรับโดยให้ปรับเพียง ๑๐๐ บาท ของกลางคงให้ริบเฉพาะอันดับ ๓๒ ส่วนอันดับที่ ๓๓ ยึดได้จากร้านอื่น ๆ ไม่ริบให้คืนเจ้าของ เพราะโจทก์ขอให้ริบแต่ของกลางที่จับได้จากโรงงานจำเลย



(ดุลยทัณฑ์, พิบูลย์, สุทธิวาท )



ศาลชั้นต้น - นายขาย รัตนวิจิตร

ศาลอุทธรณ์ - นายเชื้อ คงคากุล

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  267/2495
นายทุย จงกระจันทร์
     โจทก์
นายเปรื่อง บุญผดุง
     จำเลย

พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2486
กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478
พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2486
ป.พ.พ. มาตรา 1382
ป.วิ.พ. มาตรา 143, 145, 271

           การขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้นจะต้องผ่านศาลทุกเรื่องและเมื่อศาลมีคำสั่งให้ได้กรรมสิทธิ์ที่ตามนั้นแล้ว ก็มีกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความใน พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2486 วางวิธีปฏิบัติไว้ในอันที่จะให้เกิดผลตามคำสั่งนั้นโดยรอบคอบ
           ศาลมีคำสั่งให้หอทะเบียนออกใบแทนโฉนดให้ใหม่ แล้วแก้ทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้รับมรดกนาโฉนดนั้น ถ้าผู้ร้องไม่ได้นำหนังสือสำหรับที่ดินไปแสดงก็จำต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงมหาดไทยที่กล่าวแล้วตามหมวด1ข้อ1(2)คือจะต้องทำการรังวัดใหม่ แล้วออกโฉนดให้ใหม่ ผู้ร้องจะขอให้ศาลบังคับเจ้าพนักงานที่ดินให้ออกใบแทนโฉนดไปทีเดียวไม่ได้ และการที่เจ้าพนักงานจะต้องปฏิบัติไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว ก็หาเป็นการขัดแย้งต่อคำสั่งศาลที่จะให้ผู้ร้องได้รับกรรมสิทธิ์ในนาแปลงนั้นแต่ประการใดไม่ศาลจึงไม่ควรบังคับเจ้าพนักงานที่ดินให้ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบตามกฎกระทรวง

________________________________


          


( นาถปรีชา - ดุลยการณ์โกวิท - ดุลยทัณฑ์ชนาณัติ )


หมายเหตุ 

การปฏิบัติไปตามระเบียบคำสั่ง ย่อมเป็นโอกาสของเจ้าหน้าที่ที่จะอ้างความสุจริตได้..

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติไปตามระเบียบแล้ว ระเบียบนั้นย่อปกป้องเขาได้ พิจารณาจากคำพิพากษาฎีกานี้


คดีแดงที่  3246/2534
บริษัทเลนโซ่เคมี จำกัด โจทก์
กรมศุลกากร จำเลย



พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒



ราคาสินค้าที่เจ้าพนักงานประเมินถือตามเป็นราคาที่ผู้นำเข้าได้นำเข้าก่อนโจทก์ไม่นานนัก และบางรายก็ปรากฏว่าได้นำเข้าหลังโจทก์เพียง ๑ วัน เป็นการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ปฏิบัติตามคำสั่งเฉพาะของกรมศุลกากรที่ ๑๔/๒๕๒๔ และคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ ๘/๒๕๓๐ซึ่งแม้คำสั่งดังกล่าวจะมิใช่กฎหมาย แต่ก็แสดงว่าเป็นการปฏิบัติที่มีแนวทางที่ถูกต้องชอบธรรมและกระทำโดยสุจริต เมื่อราคาที่นำเข้ามาก่อนกลับสูงกว่าที่โจทก์นำเข้า จึงมีเหตุให้น่าสงสัยว่า ราคาที่ซื้อมาอาจมิใช่ราคาอันแท้จริง หากราคาที่โจทก์ซื้อต่ำกว่าราคาที่บริษัทอื่นซื้อเพราะโจทก์เป็นลูกค้าประจำและโจทก์สั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก หรือเพราะบริษัทผู้ขายย่อมขายให้ลูกค้าแต่ละรายแตกต่างกัน ก็ย่อมแสดงว่าราคาที่โจทก์ซื้อเป็นราคาที่ได้หักทอนหรือลดหย่อน ซึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นการลดหย่อนทั่ว ๆ ไป การลดหย่อนดังกล่าวจึงเป็นการลดหย่อนกรณีพิเศษเฉพาะราย ซึ่งตามพระราชบัญญัติ-ศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒ จะถือเอามาเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดไม่ได้



…………………..……………………………………………………………..







(นิเวศน์ คำผอง - ก้าน อันนานนท์ - สุนพ กีรติยุติ )



ศาลภาษีอากรกลาง - นายวินัย บุญพราหมณ์

ศาลอุทธรณ์ -


การแปลความกฎหมายจะถือว่าเป็นเท็จมิได้

โปรดพิจารณาแนวทางวินิจฉัยของศาลฎีกานี้...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4649/2533
พนักงานอัยการ จังหวัด ปราจีนบุรี
     โจทก์
นาง อุษา ฉายวัฒนะ
     จำเลย

 ป.อ. มาตรา 157, 162, 341

ป.วิ.พ. มาตรา 84(2), 86, 95

ป.วิ.อ. มาตรา 227

          จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีมีหน้าที่ทำเอกสารรับเอกสาร รับรองเอกสารแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน เมื่อได้รับอนุมัติให้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแล้วจึงลงนามรับรองเป็นหลักฐานในเอกสารแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านของจำเลยเองว่า ตรวจสอบถูกต้องแล้ว ขอจ่ายถูกตามระเบียบเห็นควรอนุมัติ การที่จำเลยรับรองตามที่ขออนุมัติและได้รับอนุมัติแล้วเช่นนี้ จะถือว่าเป็นการรับรองข้อความอันเป็นเท็จที่เอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงมิได้ ส่วนการที่ผู้อนุมัติได้อนุมัติไปแล้วนั้นจะถูกต้องหรือไม่เป็นเรื่องของการแปลความในกฎหมาย การแปลความไปในทางใดนั้นจะถือว่าเท็จมิได้อีกเช่นกัน หลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนบ้านว่าจำเลยมีทะเบียนบ้านอยู่ที่ไหน เป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นเท่านั้นเมื่อพยานหลักฐานอันเป็นข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นขัดแย้งกับคำพยานบุคคลที่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว เช่นนี้จะนำข้อสันนิษฐานในทางที่เป็นผลร้ายมาฟังเป็นความจริงไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่มีบ้านของตนเองและได้เช่าบ้านนาง ส. อยู่จริง การที่จำเลยมีบ้านของบิดาอยู่แต่ไม่อยู่บ้านของบิดา กลับไปเช่าบ้านอยู่ จำเลยจะมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ พุทธศักราช 2483 หรือไม่นั้น เป็นการแปลความตามกฎหมายดังกล่าว การแปลความไม่ตรงกันนั้นจะถือว่าเป็นการหลอกลวงไม่ได้ ทั้งการที่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ากรณีดังกล่าวได้มีระเบียบแบบแผนของทางราชการกำหนดไว้เป็นแน่นอนว่า จำเลยไม่มีสิทธิจะขอเบิกค่าเช่าบ้านได้ และจำเลยได้ทราบถึงระเบียบนั้นแล้ว การกระทำของจำเลย ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

________________________________



          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ทำเอกสารรับเอกสาร รับรองเอกสาร แบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน แบบ 73จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยโดยทุจริตได้ลงนามยื่นแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน แบบ 73 หลอกลวงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยอ้างสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแบบ 73 พร้อมใบเสร็จรับเงิน เพื่อขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านรวม 24 ครั้ง และจำเลยปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานโดยมิชอบและโดยทุจริต ลงนามรับรองเป็นหลักฐานในเอกสารแบบ 73 ดังกล่าวของจำเลยเอง ว่าตรวจสอบถูกต้องแล้ว ขอจ่ายถูกต้องตามระเบียบเห็นควรอนุมัติ ซึ่งข้อเท็จจริงในเอกสารในแบบ 73 ดังกล่าวมุ่งพิสูจน์ความจริง อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน และรับรองดังกล่าวได้ เพราะจำเลยมีเคหสถานบ้านพักเป็นของตนเองแล้ว และโดยการหลอกลวงอ้างสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน และค่ารับรองเท็จของจำเลยนั้น ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อ และจำเลยได้ไปซึ่งเงินจากผู้ถูกหลอกลวงรวม 17,017 บาทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 341พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าข้าราชการ พุทธศักราช 2483มาตรา 5, 9

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 และฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามบทมาตรา 162 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมลงโทษทุกกรรมตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน จำเลยกระทำผิด 24 กระทง รวมลงโทษจำคุก 4 ปี

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4), 341 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 162 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 18 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี จำเลยได้นำเงินส่งคืนทางราชการและข้อเท็จจริงเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(4), 341 หรือไม่ และมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยตามลำดับไป

          ในปัญหาสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4) นั้นตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์กล่าวในฟ้องถึงการกระทำที่จำเลยรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ คือเอกสารแบบใบเบิกเงินค่าเช่าบ้านแบบ บก.73ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2523 ถึงเดือนเมษายน 2526 เอกสารแบบใบเบิกเงินค่าเช่าบ้าน แบบ บก.73 ที่โจทก์อ้างถึงตามเอกสารหมาย จ.3(18 ฉบับ) นั้น สาระสำคัญที่มุ่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงมี 3 ประการคือ1. ผู้ขอได้เช่าบ้านและจ่ายค่าเช่าบ้าน 2. ผู้ขอได้รับอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านและ 3. ผู้ขอมีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ พุทธศักราช 2483จริงหรือไม่ สำหรับข้อเท็จจริงในประการแรกนั้น นางสมทรง กันหารีพยานโจทก์เบิกความว่า ได้แบ่งห้องให้จำเลยเช่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521เช่าอยู่จนถึงเดือนเมษายน 2526 ได้ออกใบเสร็จรับเงินค่าเช่าตามเอกสารหมาย จ.7 (10 แผ่น) ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้เช่าบ้านและมีการจ่ายค่าเช่าบ้านจริงข้อเท็จจริงที่ระบุในเอกสารที่จำเลยรับรองจึงไม่เป็นเท็จส่วนข้อเท็จจริงประการที่สองนั้นตามที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้เบิกค่าเช่าบ้านก่อนที่จะมีการยื่นแบบใบเบิกเงินค่าเช่าบ้านแบบ บก.73 ที่จำเลยได้รับรองในหน้าที่ และได้ความตามคำเบิกความของนายสมศักดิ์ สุทธิศัลสนีย์พนักงานธุรการ 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี พยานโจทก์ว่าการเบิกค่าเช่าบ้านผู้ขอเบิกจะต้องยื่นเรื่องต่อผู้บริหารแล้วผู้บริหารจะไปตรวจสอบว่ามีบ้านจริงหรือไม่ การเบิกถูกต้องหรือไม่ ในระหว่างเกิดเหตุผู้มีอำนาจอนุมัติเบิกค่าเช่าบ้านได้คือผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านได้แล้ว ต่อไปผู้เบิกเพียงแต่นำใบเสร็จไปขอเบิกโดยแนบแบบพิมพ์ขอเบิกก็สามารถเบิกได้ กรณีของจำเลยนั้นเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามิได้มีการขออนุมัติและได้รับขออนุมัติมาก่อน จึงต้องฟังว่าได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้ว ทั้งจำเลยก็นำสืบว่าได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามแบบ บก.72 แล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการรับรองของจำเลยในส่วนนี้เป็นเท็จ ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการพุทธศักราช 2483 หรือไม่นั้นปัญหานี้เป็นเรื่องของการแปลความตามพระราชกฤษฎีกาว่ากรณีใดบ้างที่จะอยู่ในเงื่อนไขที่จะเบิกค่าเช่าบ้านได้ กรณีใดที่ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องอยู่ในการพิจารณาของผู้มีอำนาจอนุมัติ ที่จะต้องแปลความหมายของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้าราชการผู้ขอเบิกค่าเช่าบ้านนั้นต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่จะมีสิทธิหรือไม่ เมื่อมีการอนุมัติให้เบิกได้แล้ว ผู้ขอหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามที่ขออนุมัติไว้ และได้รับอนุมัติแล้วเช่นนี้จะถือว่าเป็นการรับรองเท็จมิได้ และการที่ผู้อนุมัติได้อนุมัติไปแล้วนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ก็เป็นการแปลความในกฎหมาย การแปลความไปในทางใดนั้นจะถือว่าเป็นเท็จมิได้ เมื่อจำเลยได้รับอนุมัติให้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านมาก่อน มิใช่ไม่ได้รับอนุมัติแล้วรับรองว่าได้รับอนุมัติจึงถือว่า จำเลยรับรองข้อความอันเป็นเท็จที่เอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงไม่ได้ ข้อที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จในข้อนี้ที่สำคัญคือความจริงจำเลยไม่ได้เช่าบ้านแต่รับรองว่าเช่าบ้าน เห็นว่าการจะเช่าบ้านอยู่หรือไม่จะต้องพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่ามีการเช่าบ้านกันอยู่จริงหรือไม่ในข้อนี้พยานโจทก์คือนางสมทรง เจ้าของบ้านเช่าได้มาเบิกความตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า จำเลยเช่าบ้านอยู่จนถึงเดือนเมษายน 2526 เมื่อพยานโจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลจะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยถือเอาหลักฐานทางทะเบียนบ้านเป็นสำคัญนั้นศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เพราะหลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนบ้านว่าจำเลยมีทะเบียนบ้านอยู่ที่ไหนนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อพยานหลักฐานอันเป็นข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นของโจทก์ขัดแย้งกับ คำพยานบุคคลของโจทก์ที่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เช่นนี้จะนำข้อสันนิษฐานในทางที่เป็นผลร้ายมารับฟังเป็นความจริงไม่ได้ เพราะนายทองสุดกลิ่นประพัสร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการพยานโจทก์เบิกความว่าการไปดูบ้านเลขที่ 252/10 ซ. พยานไปในเวลาราชการจึงไม่ทราบว่าจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวหรือไม่ที่ทราบว่าพักอยู่ก็โดยดูจากเอกสารทะเบียนบ้านเท่านั้น เห็นว่า พยานโจทก์ปากนี้ที่นำสืบมาจึงยังฟังไม่ได้ถนัดว่าจำเลยพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 253/10 ซ. ส่วนปัญหาที่ว่าบ้านเลขที่ 352/10 ซ.ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบ้านของจำเลยจริงหรือไม่นั้น โจทก์คงมีแต่หลักฐานที่จำเลยเป็นผู้ขอปลูกสร้างแล้วจำเลยได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ซึ่งหลักฐานเหล่านี้นั้นมิใช่สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นบ้านของจำเลย บ้านหลังดังกล่าวจะเป็นของจำเลยหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งข้อนี้จำเลยมีตัวจำเลยนายอุกฤษฉายวัฒนะ น้องชายจำเลย และนางสนิท ฉายวัฒนะ มารดาจำเลยมาเบิกความยืนยันว่าบ้านหลักดังกล่าวนี้บิดาจำเลยปลูกให้บุตรซึ่งมีถึง 9 คนอยู่ โดยมอบหมายให้จำเลยดำเนินการ เมื่อปลูกเสร็จแล้วจำเลยก็ไม่ได้เข้าไปอยู่คงอยู่ที่บ้านเช่า ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวนี้ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุผลที่จะรับฟังเอาเป็นความจริงได้ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนให้เห็นเลยว่าจำเลยมาอยู่บ้านที่ปลูกขึ้นใหม่นี้ จึงรับฟังไม่ได้ว่าบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยไม่มีบ้านเป็นของตนเองและได้เช่าบ้านนางสมทรงอยู่จนถึงเดือนเมษายน 2526 จริงคำรับรองของจำเลยในเอกสารหมาย จ.3 จึงไม่เป็นเท็จตามที่โจทก์ฟ้อง

          ส่วนการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือไม่นั้น ในเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่มีบ้านของตนเองและได้เช่าบ้านนางสมทรงอยู่จริงการที่จำเลยมีบ้านของบิดาอยู่แต่ไม่อยู่บ้านของบิดากลับไปเช่าบ้านอยู่จำเลยจะมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการพุทธศักราช 2483 หรือไม่นั้นเป็นการแปลความตามกฎหมายดังกล่าว การแปลความไม่ตรงกันนั้นจะถือว่าเป็นการหลอกลวงไม่ได้ ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ากรณีดังกล่าวได้มีระเบียบแบบแผนของทางราชการกำหนดไว้เป็นแน่นอนว่าจำเลยไม่มีสิทธิจะขอเบิกค่าเช่าบ้านได้ และจำเลยได้ทราบถึงระเบียบนั้นแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้ออื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัย"

          พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์





( อุดม เฟื่องฟุ้ง - พัลลภ พิสิษฐ์สังฆการ - อากาศ บำรุงชีพ )