วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

การพิจารณาถึงเรื่อง "สิทธิในที่ดิน" ตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ซึ่งมีหลักฐานแจ้งการครอบครอง (ส.ค.๑) ใบจอง ใบเหยียบย่ำ  เท่านั้น ผู้ครอบครองซึ่งไม่มีหลักฐานใด ๆ มาก่อนก็มีสิทธิในที่ดินได้ หากได้ครอบครองและทำประโชน์อยู่ในที่ดินนั้น ดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ...


คดีหมายเลขแดงที่ อ.92/2553 คดีหมายเลขดำที่ อ.340/2547 


                
คดีนี้ปรากฏว่า ที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินที่มีหลักฐาน น.ส. 3 ก. ซึ่งถือได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้ฟ้องคดีได้สิทธิในที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามนัยข้อ 16 ประกอบกับข้อ 7 (2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และเป็นที่ดิน ที่ตั้งอยู่ในตำบลแจ้ห่ม อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1(เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาแจ้ห่ม) ได้รับคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการสอบสวนพิสูจน์สิทธิในที่ดินดังกล่าว และได้เสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4(ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง) ดำเนินการตามข้อ 16 ประกอบกับข้อ 10 (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กล่าวคือ แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดิน น.ส. 3 ก. ทั้ง 27 แปลง ที่ผู้ฟ้องคดีนำมาเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง) ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กลับมีหนังสือลงวันที่ 5 ตุลาคม 2541 เรื่อง นาย ก. ขอออกโฉนดที่ดินในเขตป่าไม้ถาวร ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่า จังหวัดลำปางได้ตรวจสอบเอกสารเรื่องราวแล้ว ปรากฏว่าหลักฐาน น.ส. 3 ก. ที่ใช้ประกอบในการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเดินสำรวจออก น.ส. 3 ก. ในปี พ.ศ. 2517 โดยไม่มีหลักฐานและรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าไม้ถาวร จึงเป็นการออก น.ส. 3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถดำเนินเรื่องออกโฉนดที่ดินในเขตป่าไม้ถาวร โดยอาศัยหลักฐาน น.ส. 3 ก. ดังกล่าว ต่อไปได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งผลการตรวจสอบของจังหวัดลำปางดังกล่าว และขอยกเลิกเรื่องออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดิน น.ส. 3 ก. ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติราชการแทน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดินดังกล่าวให้แน่ชัดว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ป่าแม่ป้าย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2513 ทั้งแปลงและบางส่วนจริงหรือไม่ และในกรณีที่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ผู้ที่โอนที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อนวันที่ทางราชการกำหนดให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขต ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ นอกจากนั้น หลักฐาน น.ส. 3 ก. ที่ผู้ฟ้องคดีแนบมาในคำขอออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็น น.ส. 3 ก. ที่ออกตามการเดินสำรวจรังวัดเมื่อปีพ.ศ. 2517 นั้น แม้จะออกให้แก่ผู้ขอโดยไม่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน ใบจองใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า ได้ทำประโยชน์แล้วหรือผู้ขอไม่ใช่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ถือได้ว่า น.ส. 3 ก. ดังกล่าว ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่อ้าง เนื่องจาก ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ก็อาจขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประกาศทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ที่ออกตามความในมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 และพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่บุคคลดังกล่าวได้ กรณีจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่ข้อ 16 ประกอบกับข้อ 10 (3) และข้อ 11 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ





------------------------------------------------------------------------------



ผู้ถูกฟ้อง

เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลําปาง สาขาแจ้ห่ม ที่ ๑

 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลําปาง ที่ ๒

อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓

 ผู้ว่าราชการจังหวัดลําปาง ที่ ๔