วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อนุมัติอะไรตามมาตรา ๕๙ ทวิ ป.ที่ดิน ?

การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามมาตรา ๕๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเสียก่อน...ปัญหาว่าผู้ว่าฯจะอนุมัติในเรื่องอะไร ขอให้ท่านพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้...


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6505/2550
นางบุญส่ง เพ็งสว่าง
     โจทก์
นายบรรลือ หอมหวล กับพวก
     จำเลย


ป.วิ.พ. มาตรา 55
ป.ที่ดิน มาตรา 59 ทวิ

          โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเป็นจำเลยที่ 2 กับฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นจำเลยที่ 4 และฟ้องจังหวัดเป็นจำเลยที่ 5 ให้ร่วมกันออกโฉนดที่ดินเนื้อที่ 62 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา แต่การออกโฉนดที่ดินนั้นหากที่ดินมีเนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หากเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด (จำเลยที่ 2) และผู้ว่าราชการจังหวัด (จำเลยที่ 4) ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 59 ทวิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้รับผิดในฐานะส่วนตัว สำหรับจำเลยที่ 5 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็นการกระทำในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 จำเลยที่ 5 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5

________________________________


          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันออกโฉนดที่ดินเนื้อที่ 62 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา ตามพื้นที่ระบายด้วยหมึกสีแดงและตามรายละเอียดในแผนที่เอกสารท้ายฟ้อง
          จำเลยทั้งห้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ดังนั้น การที่โจทก์ฎีกาว่ามีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ด้วยนั้น จึงไม่ชอบ คดีในชั้นนี้จึงมีปัญหาเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันออกโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ 62 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา ตามพื้นที่ระบายด้วยหมึกสีแดงตามรายละเอียดในแผนที่เอกสารท้ายฟ้อง แต่การออกโฉนดที่ดินนั้นหากที่ดินมีเนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 (เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด) แต่หากการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินนั้น เนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ที่บัญญัติว่า ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน... ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้... แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด... โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้รับผิดในฐานะส่วนตัว ส่วนในตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้นโจทก์ได้ฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 4 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 5 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่ในการออกโฉนดซึ่งเป็นการกระทำในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 จำเลยที่ 5 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น...
          พิพากษายืน



( สิทธิชัย พรหมศร - ชาลี ทัพภวิมล - บุญส่ง น้อยโสภณ )